Things and Property in Thai Law: Result of My Google Searches
- Potato
- Dec 25, 2022
- 6 min read
ทรัพย์และทรัพย์สินในระบบกฎหมายไทย : ผลจากการค้นหาใน Google
บทความนี้อาจจะเป็นบทความแรกและบทความเดียวของผู้เขียนก็ได้ เนื่องจากในบรรดาเรื่องที่ผู้เขียนได้ศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มีเพียงเรื่องนี้เรื่องเดียว (นอกจากเนื้อหาวิชากฎหมายการแข่งขันทางการค้า) ที่ค้างคาใจมาตั้งแต่ครั้งผู้เขียนยังเป็นนิสิต จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วผู้เขียนก็ยังไม่ได้คำตอบ เพิ่งจะได้พบสิ่งที่นับเป็นคำตอบให้กับผู้เขียนได้เมื่อเร็ว ๆ นี้นี่เอง
การที่เกิดเรื่องค้างคาใจกับตัวผู้เขียนนี้ สืบเนื่องมาจากที่ผู้เขียนได้ลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมายลักษณะทรัพย์ เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเป็นนิสิตปี 1 คณะนิติศาสตร์ ครั้งนั้นผู้เขียนได้เรียนกับปรมาจารย์ผู้มากด้วยสปิริตแห่งความเป็นอาจารย์ ทุกท่านอาจจะนึกภาพลักษณ์ของการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ว่าเป็นการเรียนการสอนแบบบรรยาย อาจารย์ผู้สอนก็จะบรรยายเนื้อหาบทเรียนให้ผู้เรียนได้จดจำ บทเรียนก็เป็นการเรียงตัวบทตามลำดับมาตรา และอธิบายว่าแต่ละมาตรามีความหมายว่าอย่างไร มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานอย่างไร แต่อาจารย์ผู้สอนท่านนี้ต่างออกไป ปรมาจารย์ผู้รับผิดชอบวิชากฎหมายลักษณะทรัพย์ท่านนี้สอนโดยให้ความสำคัญกับหลักการของกฎหมายระบบซีวิลลอว์ และตั้งคำถามให้นิสิตตอบเพื่อนำไปสู่บทสรุปความรู้อยู่เสมอ ท่านอาจารย์ได้สอนให้ผู้เรียนเข้าใจว่ากฎหมายแพ่งในระบบซีวิลลอว์เป็นระบบกฎหมายที่เป็นเหตุเป็นผล โดยมากแล้วสามารถนำหลักการซึ่งบัญญัติไว้เป็นตัวบทมาปรับใช้เพื่อให้รู้ผลของคดีได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้ว ผู้เรียนยังจะได้วิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาต่าง ๆ ว่าได้ปรับใช้ตัวบทกฎหมายและหลักกฎหมายต่าง ๆ ได้ถูกต้องหรือไม่ด้วย ไม่ใช่ว่านักเรียนกฎหมายต้องท่องจำคำพิพากษาฎีกาเป็นสรณะไปเสียทุกกรณี
(ซึ่งการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ ส่วนที่เป็นการอ่านคำพิพากษาฎีกาเป็นจำนวนมากนั้น ก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่าไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายซีวิลลอว์ที่คำพิพากษาไม่ใช่บ่อเกิดของกฎหมาย เมื่อคำพิพากษาฎีกาไม่เป็นกฎหมาย และศาลเป็นผู้ปรับใช้กฎหมาย คำพิพากษาฎีกาก็ไม่ได้ "มีคุณค่าที่ต้องอ้างอิง (cite)" ในทุกคดี แต่การเรียนการสอนกฎหมายในประเทศไทยส่วนมากยึดคำพิพากษาฎีกาเป็นสรณะ ทำให้ผู้เรียนไม่มีความคิดเป็นระบบ และอาจปรับใช้กฎหมายระบบซีวิลลอว์ได้คลาดเคลื่อน)
ประเด็นที่ผู้เขียนค้างคาใจนั้นมีอยู่สองประเด็น เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้งคู่ และเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการที่บทเรียน (หลักกฎหมาย) ไม่ตรงกับคำอธิบายตัวบทกระแสหลักในประเทศไทย ประเด็นแรกก็คือ กฎหมายลักษณะทรัพย์เป็นกฎหมายที่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอำนาจในการใช้ประโยชน์ (ครอบงำ) ทรัพย์ ซึ่งคำว่า "ทรัพย์" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายความว่าวัตถุมีรูปร่าง (มาตรา 137) แต่บทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพยสิทธิ (อำนาจในการใช้ประโยชน์ทรัพย์) ทั้งหลายที่บัญญัติไว้ในบรรพ 4 กลับใช้คำว่า "ทรัพย์สิน" ซึ่งมีนิยามต่างออกไปว่า "ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้" (มาตรา 138) ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าวัตถุแห่งทรัพยสิทธิคือทรัพย์หรือทรัพย์สินกันแน่ (กล่าวคือ เรามีกรรมสิทธิ์ในกระเป๋า ในโทรศัพท์มือถือได้ แล้วเรามีกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ได้หรือไม่ เรามีกรรมสิทธิ์ในสิทธิเรียกร้อง (หนี้ในมุมเจ้าหนี้) ได้หรือไม่ เรามีกรรมสิทธิ์ในหุ้นได้หรือไม่ ฯลฯ) ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือ ในบทเรียน ทรัพย์สินหมายถึงสิทธิที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่คำอธิบายตามบทเรียนนี้ไม่ตรงกับนิยามซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะหากทรัพย์สินตามตัวบทหมายถึงทรัพย์ด้วย (ทรัพย์สิน "หมายถึงทรัพย์" และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้) ทรัพย์สินส่วนที่เป็นทรัพย์ย่อมเป็นสิทธิในเวลาเดียวกันไม่ได้ นิยามของทรัพย์สินที่ว่าทรัพย์สินหมายถึงสิทธิที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจึงไม่ถูกต้อง ผู้เขียนจึงค้างคาใจว่านิยามของทรัพย์สินตามบทเรียนนั้นมีที่มาจากที่ใด และมาตรา 138 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นการบัญญัติที่ผิดพลาดหรือไม่ (ความจริงแล้วมีอีกประเด็นหนึ่งคือ ทำไมประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน (Bürgerliches Gesetzbuch หรือ BGB) กับประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นจึงต้องจำกัดความหมายของคำว่าทรัพย์ (thing) ไว้แค่ที่วัตถุมีรูปร่างด้วย ซึ่งในบทความนี้จะได้อธิบายไปด้วย แต่ผู้เขียนแยกประเด็นนี้มาใส่ในวงเล็บเนื่องจากผู้เขียนไม่ได้นึกถึงประเด็นนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย)
ต่อมา เมื่อผู้เขียนได้เล่าเรียนในคณะนิติศาสตร์จนถึงชั้นปีที่ 3 ผู้เขียนมีโอกาสศึกษาตัวบท (ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น) ของประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น (ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น คือฉบับที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ https://elaws.e-gov.go.jp/ เมื่อปี 2017) และ ได้เห็นคำแปลภาษาอังกฤษของ BGB ในบางมาตราที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นแนวทางในการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ซึ่งประมวลกฎหมายทั้งสามฉบับ (ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น BGB และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย) เป็นประมวลกฎหมายแบบ Pandectist มีการแบ่งบรรพเป็น 1) บทบัญญัติทั่วไป 2) หนี้ 3) ทรัพยสิทธิ 4) ครอบครัว และ 5) มรดก โดยประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นและ BGB ไม่มีการบัญญัตินิยามของคำว่าทรัพย์สินไว้ (http://openlegaltextbook.info/Centennial/data/uploads/index/03_Reconfirmed-Inaccuacy.pdf) แล้วมาตรา 138 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มีที่มาจากที่ใด
หลังจบการศึกษา ผู้เขียนก็ได้สืบค้นเรื่องนี้ต่อในอินเทอร์เน็ต และพบบทความเป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่ 2 บทความ ซึ่งช่วยนำพาผู้เขียนให้พบกับคำตอบว่าการใช้ถ้อยคำว่า "ทรัพย์" และ "ทรัพย์สิน" ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยมีที่มาอย่างไร (และหนึ่งในนั้นเป็นคำตอบว่าถ้าไม่บัญญัติจำกัดความหมายของคำว่าทรัพย์ไว้แค่ที่วัตถุมีรูปร่างแล้วจะเกิดผลประหลาดอย่างไรด้วย) คำตอบนี้คงไม่เป็นที่สิ้นสุด (definitive) เพราะผู้เขียนไม่สามารถหาบันทึกของกรมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ แต่ก็คลายความสงสัยของผู้เขียนไปได้ว่าทำไมเนื้อหาของบทเรียนวิชากฎหมายลักษณะทรัพย์เมื่อครั้งปริญญาตรีกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นต่างกัน จึงขอนำมาอธิบายไว้ในบทความนี้
เกี่ยวกับ "ทรัพย์" (「物」について)
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นฉบับปัจจุบัน และฉบับเก่า
ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นได้กำหนดไว้ในมาตรา 85 ว่า "ในกฎหมายนี้ 'ทรัพย์' หมายความว่าวัตถุมีรูปร่าง" (ตัวบทปัจจุบัน : この法律において「物」とは、有体物をいう。 ตัวบทก่อนแก้ไขเพื่อปรับรูปภาษาให้เป็นภาษาปัจจุบัน : 「本法ニ於テハ物トハ有体物ヲ謂フ」) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในลักษณะเดียวกับมาตรา 90 ของ BGB แต่บทบัญญัติเช่นนี้ไม่มีในประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส แต่กลับกัน ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นฉบับเก่า (旧民法) ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส กลับบัญญัติไว้ว่า "ทรัพย์นั้นมีทั้งที่มีรูปร่าง และไม่มีรูปร่าง" (物ニハ有体ナルモノ有リ無体ナルモノ有リ (มาตรา 6 บรรพทรัพย์สิน (財産編第6条)) ซึ่งแตกต่างจากทั้ง BGB และประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส
หมายเหตุ : ภาษาเขียนในภาษาญี่ปุ่นสมัยก่อนโชวะ เรียกว่า 文語体 (Bungotai) เป็นภาษาที่ใช้รูปประโยคใกล้เคียงกับภาษาโบราณ (古文、Kobun) กล่าวคือในสมัยก่อน ญี่ปุ่นมีปรากฏการณ์ diglossia ที่ภาษาพูดกับภาษาเขียนไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ในปัจจุบันภาษาเขียนในภาษาญี่ปุ่นใช้รูปประโยคที่ใกล้เคียงกับภาษาพูดในปัจจุบันแล้ว
ศัพท์และคอนเซปต์ในภาษาฝรั่งเศส และคำแปลภาษาญี่ปุ่น
เกี่ยวกับทรัพย์สิน กองทรัพย์สิน และทรัพย์ ในภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า biens, patrimoine และ choses ซึ่งนำมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ว่า 財産 (ทรัพย์สิน)、資産 (สินทรัพย์) และ 物 (ทรัพย์) ตามลำดับ ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นฉบับเก่า ได้บัญญัติอธิบายไว้ดังนี้
(ตัวบทประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นฉบับเก่า สามารถตรวจสอบได้ที่นี่ : https://dl.ndl.go.jp/pid/1270015/1/1)
財産編
第1条 財産ハ各人又ハ公私ノ法人ノ資産ヲ組成スル権利ナリ
此権利ニ二種アリ物権及ヒ人権是ナリ
บรรพ ทรัพย์สิน
มาตรา 1 ทรัพย์สินนั้น คือสิทธิซึ่งประกอบเข้าเป็นสินทรัพย์ของบรรดาบุคคลและนิติบุคคลทั้งมหาชนและเอกชน
สิทธินี้มีอยู่สองประเภท คือทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิ
第2条 物権ハ直チニ物ノ上ニ行ハレ且総テノ人ニ対抗スルコトヲ得ヘキモノニシテ主タル有リ従タル有リ
主タル物権ハ之ヲ左ニ掲ク
第一 完全又ハ虧缺ノ所有権
第二 用益権、使用権及ヒ住居権
第三 賃借権、永借権及ヒ地上権
第四 占有権
従タル物権ハ之ヲ左ニ掲ク
第一 地役権
第二 留置権
第三 動産質権
第四 不動産質権
第五 先取特権
第六 抵当権
右地役権ハ所有権ノ従タル物権ニシテ留置権以下ハ人権ノ担保ヲ為ス従タル物権ナリ
มาตรา 2 ทรัพยสิทธินั้นใช้บังคับเหนือทรัพย์โดยตรง และอาจใช้อ้างยันกับบุคคลได้ทั้งหมดทั้งมวล มีทั้งที่เป็นประธานและที่เป็นอุปกรณ์
ทรัพยสิทธิที่เป็นประธานนั้น มีตามที่ได้บรรยายไว้ด้านซ้ายนี้
ลำดับ 1 คือกรรมสิทธิ์ที่สมบูรณ์หรือบกพร่อง
ลำดับ 2 คือสิทธิใช้และรับประโยชน์ สิทธิการใช้ และสิทธิอาศัย
ลำดับ 3 คือสิทธิการเช่า สิทธิการเช่าระยะยาว และสิทธิเหนือพื้นดิน
ลำดับ 4 คือสิทธิครอบครอง
ทรัพยสิทธิที่เป็นอุปกรณ์นั้น มีตามที่ได้บรรยายไว้ด้านซ้ายนี้
ลำดับ 1 คือภาระจำยอม
ลำดับ 2 คือสิทธิยึดหน่วง
ลำดับ 3 คือสิทธิจำนำสังหาริมทรัพย์
ลำดับ 4 คือสิทธิจำนำอสังหาริมทรัพย์
ลำดับ 5 คือบุริมสิทธิ
ลำดับ 6 คือสิทธิจำนอง
ภาระจำยอมตามที่ระบุไว้ด้านขวานั้น เป็นทรัพยสิทธิที่เป็นอุปกรณ์ของกรรมสิทธิ์ ส่วนตั้งแต่สิทธิยึดหน่วงลงมานั้น เป็นทรัพยสิทธิซึ่งเป็นประกันแก่บุคคลสิทธิ
第3条 人権即チ債権ハ定マリタル人ニ対シ法律ノ認ムル原因ニ由リテ其負担スル作為又ハ不作為ノ義務ヲ尽サシムル為メ行ハルルモノニシテ亦主タル有リ従タル有リ
従タル人権ハ債権ノ担保ヲ為ス保証及ヒ連帯ノ如シ
มาตรา 3 บุคคลสิทธิ หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าหนี้นั้น ใช้บังคับต่อบุคคลที่ได้ระบุไว้ เพื่อให้เขาปฏิบัติหน้าที่ในการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามที่เขามีภาระตามมูลหนี้ซึ่งกฎหมายยอมรับ และมีทั้งที่เป็นประธานและที่เป็นอุปกรณ์
บุคคลสิทธิที่เป็นอุปกรณ์นั้น เช่นการค้ำประกันและหนี้ร่วมซึ่งเป็นประกันแห่งหนี้ เป็นต้น
第4条 著述者ノ著書ノ発行、技術者ノ技術物ノ製出又ハ発明者ノ発明ノ施用ニ付テノ権利ハ特別法ヲ以テ之ヲ規定ス
มาตรา 4 สิทธิเกี่ยวกับการออกพิมพ์ซึ่งงานเขียนของผู้ประพันธ์ การผลิตวัตถุวิทยาการของผู้ทรงวิทยาการ และการใช้การค้นพบของผู้ค้นพบนั้น จะกำหนดกฎเกณฑ์ด้วยกฎหมายพิเศษ
第6条 物ニ有体ナル有リ無体ナル有リ
有体物トハ人ノ感官ニ触ルルモノヲ謂フ即チ地所、建物、動物、器具ノ如シ
無体物トハ智能ノミヲ以テ理会スルモノヲ謂フ即チ左ノ如シ
第一 物権及ヒ人権
第二 著述者、技術者及ヒ発明者ノ権利
第三 解散シタル会社又ハ清算中ナル共通ニ属スル財産及ヒ債務ノ包括
มาตรา 6 ทรัพย์นั้นมีทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง
ทรัพย์ที่มีรูปร่างนั้น หมายถึงสิ่งที่อวัยวะสัมผัสของบุคคลรับรู้ได้ เป็นต้นว่าที่ดิน อาคาร สัตว์ เครื่องมือ
ทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่างนั้น หมายถึงสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ก็แต่ด้วยสติปัญญา ดังเช่นตามที่บรรยายไว้ด้านซ้ายนี้
ลำดับ 1 คือทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิ
ลำดับ 2 คือสิทธิของผู้ประพันธ์ ผู้ทรงวิทยาการ และผู้ค้นพบ
ลำดับ 3 คือทรัพย์สินและหนี้สินซึ่งรวมกันของบริษัทที่เลิกกันหรือการกระทำร่วมกันที่อยู่ในระหว่างการชำระบัญชี
หมายเหตุ : คำว่า 人権 ในปัจจุบันจะหมายถึงสิทธิมนุษยชน
มาตรา 6 บรรพทรัพย์สิน
เมื่อในมาตรา 6 ของบรรพทรัพย์สิน บัญญัติว่าทรัพย์มีทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ทรัพยสิทธิ (物権) และหนี้ (債権、人権) ก็จะเป็นทรัพย์ตามนิยามนี้ด้วย และก็จะมี ทรัพยสิทธิเกิดขึ้นเหนือทรัพยสิทธิและหนี้ได้ ซึ่งบอยโซนาด (กุสตาฟว์ บอยโซนาด, Gustave Boissonade, ギュスターヴ・ボアソナード นักวิชาการกฎหมายชาวฝรั่งเศส) ผู้ยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นฉบับเก่า ได้อธิบายไว้ว่า "ทรัพยสิทธิที่เอาทรัพยสิทธิเป็นวัตถุ ก็เช่นสิทธิในการใช้และรับประโยชน์จากสิทธิในการใช้และรับประโยชน์ หรือสิทธิจำนองที่จำนองสิทธิการเช่า ทรัพยสิทธิที่เอาบุคคลสิทธิเป็นวัตถุ ก็เช่นสิทธิจำนำสังหาริมทรัพย์ที่จำนำหนี้ (จำนำสิทธิเรียกร้อง) บุคคลสิทธิที่เอาบุคคลสิทธิเป็นวัตถุ ก็เช่นกรณีที่ทำสัญญาไว้ว่าจะโอนหนี้ (โอนสิทธิเรียกร้อง) บุคคลสิทธิที่เอาทรัพยสิทธิเป็นวัตถุ ก็เช่นสิทธิจองการรับโอนกรรมสิทธิ์ จำพวกนี้"
สงครามประมวลกฎหมายแพ่ง (民法典論争) (เนื้อหาจากหนังสือ "ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ : จากกฎหมายสิบสองโต๊ะสู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" ของ รองศาสตราจารย์ ดร. มุนินทร์ พงศาปาน)
ประมวลกฎหมายแพ่งฉบับบอยโซนาดร่างเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1889 และมีกำหนดใช้บังคับในปี ค.ศ. 1892 แต่มีการถกเถียงกันถึงความเหมาะสมของประมวลกฎหมายแพ่งฉบับนี้กันอย่างกว้างขวาง มีผู้สนับสนุนและต่อต้านประมวลกฎหมายแพ่งฉบับบอยโซนาดเป็นจำนวนมาก จนเรียกการถกเถียงนี้ได้ว่าเป็น "สงครามประมวลกฎหมายแพ่ง" (民法典論争 - Dispute on the Civil Code (Japanese Wikipedia)) ซึ่งจบลงด้วยการที่รัฐสภาญี่ปุ่น (帝国議会、Imperial Diet) ลงมติชะลอการมีผลใช้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งฉบับบอยโซนาดออกไป และให้มีการร่างประมวลกฎหมายแพ่งฉบับใหม่ขึ้น
กรรมสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์
เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งฉบับใหม่แล้ว ก็ไม่ได้มีการถกเถียงกันเรื่องคอนเซปต์ที่ว่า "ทรัพย์สินนั้นคือสิทธิ" แต่อย่างใด แต่บทบัญญัติมาตรา 6 บรรพทรัพย์สิน ที่ว่า "ทรัพย์นั้นมีทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง" กลับถูกยกขึ้นมาถกเถียงโดยมีผู้กล่าวว่าบทบัญญัตินี้มีข้อผิดพลาด (穏当ナラザル点ナシトセズ) ก็คือการที่สิทธิซึ่งเป็นวัตถุที่ไม่มีรูปร่างอย่างหนึ่งเป็นทรัพย์ ทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิก็จะเป็นทรัพย์ ก็จะมีทรัพยสิทธิเกิดขึ้นเหนือทรัพยสิทธิ และมีทรัพยสิทธิเกิดขึ้นเหนือบุคคลสิทธิได้ ด้วยเหตุผลนี้เองก็ทำให้วัตถุที่ไม่มีรูปร่างถูกตัดออกจากนิยามของคำว่า "ทรัพย์" ตามประมวลกฎหมายแพ่งฉบับใหม่ไป ในเรื่องนี้ อุเมะ เคนจิโร (梅 謙次郎、Ume Kenjiro (ชื่อชาวญี่ปุ่นจะนำนามสกุลขึ้นก่อนชื่อต้น ในกรณีของอุเมะ Ume คือนามสกุล Kenjiro คือชื่อต้น) สมาชิกคณะกรรมการร่างประมวลกฎหมายแพ่งฉบับใหม่ของญี่ปุ่น ได้เขียนไว้ว่า "ถ้ารวมทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิเข้าไปในนิยามคำว่า 'ทรัพย์' ก็จะมีทรัพยสิทธิเกิดขึ้นเหนือทรัพยสิทธิอื่นหรือเกิดขึ้นเหนือบุคคลสิทธิ ก็คือจะมีกรรมสิทธิ์ในหนี้ กรรมสิทธิ์ในสิทธิเหนือพื้นดิน กรรมสิทธิ์ในสิทธิจำนอง ไม่เพียงเท่านี้ กรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ในหนี้ กรรมสิทธิ์ในสิทธิเหนือพื้นดิน กรรมสิทธิ์ในสิทธิจำนอง ก็จะเป็นทรัพย์ (เพราะตัวมันเองก็เป็นวัตถุไม่มีรูปร่างเหมือนกัน (ผู้เขียนบล็อก)) ก็จะมีกรรมสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์นี้อีก แล้วก็จะมีกรรมสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์ในหนี้ กรรมสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์ในสิทธิเหนือพื้นดิน เกิดขึ้นไม่จบไม่สิ้น" นอกจากนี้ โทมิอิ มาซาอากิระ (富井政章、Tomii Masaakira) สมาชิกคณะกรรมการร่างประมวลกฎหมายแพ่งฉบับใหม่อีกคนหนึ่ง ก็ได้เขียนไว้ว่า "ในกฎหมายโรมันก็มีการแบ่งแยกทรัพย์ที่มีรูปร่างกับทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่างไว้อย่างชัดเจน แต่ก็ชัดเจนเหมือนกันว่า[ในกฎหมายโรมัน]มองทรัพย์ที่มีรูปร่างกับกรรมสิทธิ์เป็นสิ่งเดียวกันได้แต่ 'ทรัพย์ไม่มีรูปร่าง' นั้นจะหมายถึงสิทธิเชิงทรัพย์สิน (財産権、Property Rights) อื่น ๆ นอกจากกรรมสิทธิ์เป็นแน่แท้ ที่นักวิชาการยุคหลัง ๆ บางทีก็ไปขยายความการแบ่งแยกนี้ แล้วก็เรียกสิทธิทั้งหมดว่าเป็นทรัพย์ไม่มีรูปร่างนั้น ก็ต้องกล่าวว่าเป็นความคิดที่ผิดที่ไปเอาสิทธิกับทรัพย์ [(ที่ไม่มีรูปร่าง)] อันเป็นวัตถุแห่งสิทธิมาปนกัน" (แต่ผู้เขียนบทความนี้ (田中 清、Tanaka) เขียนโต้แย้งไปว่าวัตถุไม่มีรูปร่างจริง ๆ แล้วคือสิทธิเชิงทรัพย์สินทั้งหมดที่รวมถึงกรรมสิทธิ์ด้วย)
(เรื่อง "กรรมสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์" นี้ ตรงกับที่ท่านอาจารย์ผู้รับผิดชอบวิชากฎหมายลักษณะทรัพย์ได้สอนผู้เขียนมา ก็คือ "กรรมสิทธิ์นี่แหละคือทรัพย์สิน หากมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแล้ว ก็จะเป็นการบัญญัติให้มีสิทธิเหนือสิทธิอีกที ซึ่งไม่ชอบด้วยเหตุผล")
2. ความคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ (propriété) ในกฎหมายฝรั่งเศส -ข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์- (フランス法における所有(propriété)概念 -財産と所有に関する序論的考察-)
ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นได้บัญญัติจำกัดนิยามของทรัพย์ไว้เฉพาะเพียงวัตถุมีรูปร่าง (มาตรา 85) แต่ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว และยังมีบางมาตราที่เขียนในลักษณะที่มีพื้นฐานจากการรวมวัตถุไม่มีรูปร่างเข้าไปด้วย เช่น มาตรา 526 ได้รวมสิทธิในการใช้และรับประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ ภาระจำยอม และสิทธิในการเรียกคืนซึ่งอสังหาริมทรัพย์เข้าไปในขอบเขตของคำว่าอสังหาริมทรัพย์ด้วย ส่วนมาตรา 529 ก็ให้หนี้เช่นหนี้เงินเป็นสังหาริมทรัพย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่างก็เป็นวัตถุ (เป้าหมาย) แห่งกรรมสิทธิ์ในกฎหมายฝรั่งเศสด้วยเช่นนั้นหรือ คำตอบคือไม่ใช่ ในทางทฤษฎี orthodox (伝統的通説) ในกฎหมายฝรั่งเศส กรรมสิทธิ์ในประมวลกฎหมายแพ่งมีวัตถุได้เพียงแค่ทรัพย์มีรูปร่าง บทความนี้เป็นการนำเสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในวงการกฎหมายฝรั่งเศส โดยหลังจากนำเสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับคอนเซปต์เรื่องทรัพย์สิน (財産、bien) ในกฎหมายฝรั่งเศส และความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์แล้ว ก็จะเป็นการนำเสนอข้อถกเถียงในทางทฤษฎีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ต่อไป
หมายเหตุ : ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส (คำแปลภาษาอังกฤษโดยศาสตราจารย์ Georges ROUHETTE)
BOOK II
OF PROPERTY AND OF THE VARIOUS MODIFICATIONS OF OWNERSHIP (Articles 517 to 639)
TITLE I OF THE VARIOUS KINDS OF PROPERTY
Art. 516 All property is movable or immovable.
Art. 526 The usufruct of immovable things;
Servitudes or land services;
Actions for the purpose of recovering an immovable,
are immovables by the object to which they apply.
Art. 529 Obligations and actions having as their object sums due or movable effects, shares or interests in financial, commercial or industrial concerns, even where immovables depending on these enterprises belong to the concerns, are movables by prescription of law. Those shares or interests shall be deemed movables with regard to each shareholder only, as long as the concern lasts.
Perpetual or life annuities, either from the State or private individuals, are also movables by prescription of law.
Article 516 Tous les biens sont meubles ou immeubles.
Article 526 Sont immeubles, par l'objet auquel ils s'appliquent :
L'usufruit des choses immobilières ;
Les servitudes ou services fonciers ;
Les actions qui tendent à revendiquer un immeuble.
Article 529 Sont meubles par la détermination de la loi les obligations et actions qui ont pour objet des sommes exigibles ou des effets mobiliers, les actions ou intérêts dans les compagnies de finance, de commerce ou d'industrie, encore que des immeubles dépendant de ces entreprises appartiennent aux compagnies. Ces actions ou intérêts sont réputés meubles à l'égard de chaque associé seulement, tant que dure la société.
Sont aussi meubles par la détermination de la loi les rentes perpétuelles ou viagères, soit sur l'Etat, soit sur des particuliers.
ทรัพย์สิน (財産、bien)
บรรพ 1 ของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส คือ "บุคคล" ส่วนบรรพ 2 คือ "ทรัพย์สินและรูปแบบต่าง ๆ ของกรรมสิทธิ์" (Livre II : Des biens et des différentes modifications de la propriété (Articles 515-14 à 710-1)) แต่ก็ไม่มีนิยามของคำว่าทรัพย์สินบัญญัติไว้ บรรพ 2 นี้เริ่มด้วยการบัญญัติว่า "ทรัพย์สินแบ่งออกเป็นสังหาริมทรัพย์ หรือ อสังหาริมทรัพย์" (All property is movable or immovable. Tous les biens sont meubles ou immeubles.) แต่เนื้อหาของหมวดนี้ (ลักษณะ 1 OF THE VARIOUS KINDS OF PROPERTY, Titre Ier : De la distinction des biens (Articles 516 à 543)) ก็เป็นเพียงการบัญญัติถึงรายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ไว้
ต่อจากคำว่า "ทรัพย์สิน" ก็มีคำว่า "ทรัพย์ (chose)" ใช้อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส เช่น มาตรา 544 แต่ก็ไม่มีนิยามของคำว่าทรัพย์อีกเช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างคำว่าทรัพย์สินกับทรัพย์จึงไม่ชัดเจนหากพิจารณาแต่จากตัวบทกฎหมายอย่างเดียว
Art. 544 Ownership is the right to enjoy and dispose of things in the most absolute manner, provided they are not used in a way prohibited by statutes or regulations.
Article 544 La propriété est le droit de jouir et disposer des choses de la manière la plus absolue, pourvu qu'on n'en fasse pas un usage prohibé par les lois ou par les règlements.
นิยามของทรัพย์สิน
มีทรัพย์เพียงบางอย่างเท่านั้นที่เป็นทรัพย์สิน การที่ทรัพย์จะเป็นทรัพย์สินได้ ทรัพย์นั้นจะต้อง "ใช้ได้ (มี utilité)" ถ้าบุคคลใช้ทรัพย์นั้นไม่ได้ ทรัพย์นั้นก็ไม่เป็นทรัพย์สิน ประการที่สอง การที่ทรัพย์นั้นจะเป็นทรัพย์สินได้ ทรัพย์นั้นต้อง "แบ่งเอาไป (割当て、เข้าถือเอา, appropriation) ได้" ดังนั้น บรรยากาศ น้ำทะเล และแสงอาทิตย์ก็ไม่เป็นทรัพย์สิน เพราะไม่สามารถสังกัดอยู่กับใครได้ ไม่มีใครเข้าถือเอาได้ ความเห็นส่วนใหญ่มองว่าทรัพย์ที่เข้าถือเอาได้นั้นเป็นทรัพย์สิน ไม่ว่าจะมีผู้ถือเอาทรัพย์นั้นอยู่จริง ๆ หรือไม่ ทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของหากเข้าถือเอาได้ก็เป็นทรัพย์สิน (แต่ก็มีผู้กล่าวอยู่เหมือนกันว่าทรัพย์สินไม่ได้หมายความถึงทรัพย์ที่เข้าถือเอาได้ แต่หมายถึงทรัพย์ที่มีผู้ทรงสิทธิที่ระบุตัวตนได้เข้าถือเอาอยู่จริง ๆ ต่างหาก เช่น Toullier ซึ่งเคยเขียนไว้ว่า "ทรัพย์นั้นคือสิ่งทั้งหมดทั้งมวลที่ครอบครอง (posséder) ได้ ส่วนทรัพย์สินคือสิ่งที่ถูกครอบครองอยู่")
ความหมายของคำว่า "เข้าถือเอา"
คำว่า "เข้าถือเอา" หมายถึงสื่อกลางที่เชื่อมระหว่างผู้ทรงสิทธิ (主体) คือบุคคล กับผู้ถูกกระทำ (客体) คือทรัพย์ ซึ่งทฤษฎีกระแสหลักนั้นเข้าใจว่า "สิทธินี่แหละคือสื่อกลางที่เชื่อมระหว่างบุคคลกับทรัพย์ ฉะนั้นทรัพย์สินจริง ๆ แล้วก็คือสิทธิในเชิงอัตวิสัย" แต่ก็มีผู้เห็นแย้งอีกว่า "ทรัพย์สินไม่ใช่สิทธิ แต่คือตัวทรัพย์นั้น" ซึ่งบทความนี้ก็ได้อธิบายถึงทฤษฎีกระแสหลักกับความเห็นของผู้เห็นแย้งเรียงกันตามลำดับ
ความเห็นที่ว่าทรัพย์สินคือสิทธิในเชิงอัตวิสัย
Demolombe เคยกล่าวไว้ว่า "ทรัพย์นั้นจะกลายเป็นทรัพย์สินได้ก็แต่ด้วยเพียงสิทธิที่เอาทรัพย์นั้นเป็นวัตถุ การที่เราพูดว่า 'บ้านของฉัน' หรือ 'ม้าของฉัน' ฯลฯ นี้ เป็นการกล่าวว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหรือในม้า" ทรัพย์สินนั้นก็คือกรรมสิทธิในบ้านหรือในม้านั่นเอง แต่[ผู้คน]มักจะเอาสิทธิกับวัตถุแห่งสิทธิมาปนกัน เลยเกิดวิธีพูดว่า "ทรัพย์สินที่มีรูปร่าง" ขึ้นมา ซึ่งการอธิบายทำนองนี้ก็ยังคงเป็นที่พูดถึงมาจนปัจจุบัน และเป็นพื้นฐานทางความคิดให้กับบอยโซนาดซึ่งร่างมาตรา 1 บรรพทรัพย์สินของประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นฉบับเก่าไว้ด้วย (โปรดดูด้านบน) ความเห็นที่ว่าทรัพย์สินจริง ๆ แล้วคือสิทธินี้เป็นความเห็นส่วนใหญ่ ซึ่ง Weill ได้กล่าวไว้ว่า "ทรัพย์นั้นโดยตัวของมันเองไม่มีค่าอะไร ที่ทรัพย์นั้นใช้ได้ก็เป็นผลมาจากสิทธิที่ทำให้[เรา]ใช้ทรัพย์ได้" และ Flour ซึ่งมองว่าทรัพย์สินคือองค์ประกอบของความมั่งคั่ง (wealth) ของบุคคล ก็เขียนไว้ว่า "สิ่งที่มีค่านั้นไม่ใช่ตัวทรัพย์ แต่เป็นสิทธิ ทรัพย์จึงไม่ใช่ทรัพย์สิน" ส่วนที่กรรมสิทธิ์มีวัตถุได้เพียงแค่ทรัพย์มีรูปร่าง ก็เป็นเพราะว่ากรรมสิทธิ์มีลักษณะพิเศษที่ให้ความสำคัญกับการครอบครอง ก็คือการครอบงำในทางกายภาพ (ลองนึกสภาพตามระบบกฎหมายที่จำกัดว่าทรัพย์มีแค่วัตถุมีรูปร่างเช่นกฎหมายเยอรมันหรือกฎหมายญี่ปุ่น กรรมสิทธิ์คืออำนาจที่ให้ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ครอบงำทรัพย์ (วัตถุมีรูปร่าง) ในทุกด้าน แต่ถ้าผู้ทรงกรรมสิทธิ์ไม่ได้ครอบครอง (ครอบงำ) ทรัพย์นั้นอยู่จริง ๆ ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ก็จะใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้นไม่ได้เลย (ผู้เขียน)) ถ้าไม่มีทรัพย์อยู่ในทางกายภาพ กรรมสิทธิ์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแพ่งจึงมีวัตถุได้เพียงแค่ทรัพย์มีรูปร่างเท่านั้น
เมื่อการเข้าถือเอาได้หมายถึงการสามารถเป็นวัตถุแห่งสิทธิได้ และสิทธิที่เป็นตัวอย่างสำคัญ (典型、model example) นั้นก็คือกรรมสิทธิ์ ก็จะกลายเป็นว่าทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง (สิทธิ) ซึ่งไม่อาจเป็นวัตถุแห่งกรรมสิทธิ์ได้ไม่เป็นทรัพย์สินไป ในเรื่องนี้ผู้สนับสนุนความคิดที่ว่าทรัพย์สินคือสิทธิในเชิงอัตวิสัยนี้ก็ได้อธิบายว่า สำหรับสิทธิพวกนี้ การเข้าถือเอานั้นไม่เป็นปัญหา ปัญหามีแค่ว่าสิทธินั้นเป็นชื่อ (titre) ของใครเท่านั้น ยกตัวอย่างได้เช่น เราไม่จำเป็นต้องมีกรรมสิทธิ์ในหนี้เงิน (กรรมสิทธิ์ในฐานะการครอบงำในเชิงกายภาพต่อหนี้เงินนั้นไม่เป็นปัญหาที่ต้องนำมาพูดถึง)
(ความเห็นที่ว่าทรัพย์สินคือทรัพย์)
(Zenati ได้เขียนไว้ว่า ทรัพย์สินก็คือทรัพย์ บางอย่างก็เป็นทรัพย์มีรูปร่าง บางอย่างก็เป็นสิทธิที่ถูกมองว่าเป็นทรัพย์ ส่วน "ความเป็นเจ้าของ" ก็คือการเข้าถือเอาซึ่งทรัพย์อย่างกีดกันผู้อื่น ดังนั้นเป้าหมายแห่งการเป็นเจ้าของจึงมิได้จำกัดอยู่แค่ทรัพย์ที่มีรูปร่างอย่างเดียว คนเราก็เป็นเจ้าของหนี้เงินได้ การเป็นเจ้าของหนี้เงินก็คือการใช้สิทธิเรียกร้องอย่างกีดกันผู้อื่น รับผลประโยชน์จากสิทธิเรียกร้องนั้น และจัดการสิทธิเรียกร้องนั้นได้ตามที่ตนประสงค์ นอกจากนี้ Zenati ยังเห็นแย้งอีกว่าคนเราก็ครอบครองทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่างได้เช่นกัน โดยกฎหมายได้ยอมรับการครอบงำอย่างกีดกันผู้อื่นซึ่งทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่างไว้ด้วย ดังนั้น "ตัวตน (entité) ใดก็ตามที่ใช้ได้ (มี utilité) สามารถอยู่ในความสัมพันธ์แบบกีดกันผู้อื่นได้ ระบุตัวตนได้ และแบ่งแยกส่วนได้ สิ่งนั้นคือทรัพย์สิน")
ข้อสรุปที่ผู้เขียนได้จากการอ่านทั้งสองบทความ
การจำกัดให้ทรัพย์หมายความถึงแค่วัตถุมีรูปร่าง มีเหตุผลก็เพื่อไม่ให้มีทรัพยสิทธิเกิดขึ้นเหนือทรัพยสิทธิเหนือทรัพยสิทธิไม่จบไม่สิ้น
คอนเซปต์ที่ว่าทรัพย์สินคือสิทธิที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้นมีอยู่จริง อย่างน้อยก็ในกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส
แม้กระทั่งกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสที่ไม่มีบทบัญญัติจำกัดนิยามของคำว่าทรัพย์ว่าหมายถึงเฉพาะวัตถุมีรูปร่าง นักกฎหมายก็ยังเข้าใจตรงกันว่าวัตถุแห่งกรรมสิทธิ์มีได้เฉพาะวัตถุมีรูปร่างเท่านั้น
เมื่อนักกฎหมายแม้กระทั่งจากระบบกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสเข้าใจตรงกันว่าวัตถุแห่งกรรมสิทธิ์มีได้เฉพาะวัตถุมีรูปร่าง หากจะใช้คำว่า "ทรัพย์สิน" ในบรรพทรัพยสิทธิ ก็ยังจะสามารถตีความว่าบรรพทรัพยสิทธิกล่าวถึงสิทธิในการครอบงำวัตถุมีรูปร่างได้อยู่ดี เหมือนกับเรื่องนี้เป็นสามัญสำนึก (common sense, 常識) ของนักกฎหมายอยู่แล้ว อนึ่ง โปรดตรวจสอบหมายเหตุด้านล่าง
การบัญญัติมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย (ซึ่งตรงกับมาตรา 2349 ของประมวลกฎหมายแพ่งอาร์เจนตินา (http://openlegaltextbook.info/Centennial/data/uploads/index/03_Reconfirmed-Inaccuacy.pdf) (มีผลในปี 1871 ยกเลิกในปี 2015 โดยเปลี่ยนไปใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับใหม่แทน)) นั้น ตรงกับคอนเซปต์ที่ว่าผู้คนสามารถเรียกวัตถุมีรูปร่างที่เป็นวัตถุแห่งสิทธิเชิงทรัพย์สินกับตัวสิทธิเชิงทรัพย์สินปนกันได้ การบัญญัติว่า "ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้" จึงสอดคล้องกับคอนเซปต์นี้ ตรงที่ทรัพย์สินที่หมายความว่าทรัพย์ (วัตถุมีรูปร่าง) คือการกล่าวในลักษณะที่นำวัตถุแห่งสิทธิเชิงทรัพย์สินกับตัวสิทธิเชิงทรัพย์สินปนกัน ส่วนทรัพย์สินที่หมายความว่าวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ก็จะหมายถึงสิทธิที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจนั่นเอง (สิทธิที่ "ใช้ได้" และ "บอกว่านี่เป็นของฉัน" ได้)
หมายเหตุ : อนึ่ง หากตรวจสอบ Archive ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (http://openlegaltextbook.info/Centennial/index.php?id=microfilms) ตามลำดับที่เขียนไว้ในเว็บไซต์นี้ จะพบว่า ในเล่ม 7 (ปี 1923)ใช้ชื่อบรรพ 4 ว่า THINGS แต่ในร่างแรกของเล่ม 8 (ปี 1927) ใช้ชื่อบรรพว่า PROPERTY ส่วนในต้นร่างมาตรา 1336 (Section 50 bis) ของร่างเล่ม 7 ใช้คำว่า Property
จึงเกิดข้อสงสัยเพิ่มเติมว่า คณะทำงานยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ชุดหลังจากที่กรรมการชาวฝรั่งเศสหมดบทบาทไปแล้ว เข้าใจการรวม-แยกกันของคอนเซปต์ทรัพย์และทรัพย์สินว่าอย่างไร ซึ่งผู้เขียนหรือท่านผู้สนใจคงต้องตรวจสอบ Archive นี้โดยละเอียดต่อไป
สิ่งที่ผู้เขียนจะต้องไปค้นเพิ่ม : ตำรากฎหมายโรมันที่เป็นภาษาที่ผู้เขียนเข้าใจ
Commentaires